วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ความรู้เบื่องต้นเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาสวยงาม


การเลี้ยงปลาสวยงามในตู้ปลาจะมีปัจจัยที่สำคัญอยู่ 5 ประการนะครับ
คือ
1.ที่อยู่อาศัย
2.สภาพแวดล้อม
3.ระบบกรอง
4.อุณหภูมิ
5.อาหาร

ที่อยู่อาศัย
ขึ้นชื่อว่าปลา ก็ต้องอาศัยอยู่ในน้ำนะครับ เพราะฉะนั้น คุณภาพน้ำจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงปลา น้ำที่เราจะใช้นำมาเลี้ยงปลานั้นควรเป็นน้ำสะอาดและปราศจากคลอรีน ค่า Ph ควรอยู่ที่ระหว่าง 6.5-7.5 (แล้วแต่ชนิดปลา) โดยสามารถหาได้จาก
1.น้ำ ประปา นำมาพักทิ้งเอาไว้ซัก 2 คืน หรือ 1 คืน(กรณีที่มีการให้ออกซิเจนตลอดเวลา) เพื่อให้คลอรีนระเหยออกไปหมด จึงสามารถนำมาใช้ได้
2 .ใช้น้ำกรองผ่านเครื่องกรองคลอรีน วิธีนี้สามารถนำน้ำที่ได้มาใช้ได้ทันที
นอก จากนี้แล้วเรื่องความสะอาดของน้ำถือเป็นเรื่องสำคัญ จึงควรเปลี่ยนถ่ายน้ำ ทุกๆ 4-7 วัน หรืออย่างต่ำ ควรถ่ายน้ำอาทิตย์ละครั้ง ครั้งละ 30% เป็นประจำจะช่วยให้ปลาแข็งแรงและสุขภาพดีเสมอครับ และหลังเปลี่ยนน้ำอาจใส่เกลือสักเล็กน้อย เพื่อกระตุ้นกระบวนการแลกเปลี่ยนแร่ธาตุกับน้ำได้ดีขึ้น

สภาพแวดล้อม
ในที่นี้หมายถึงทุกๆอย่างรอบตัวปลา ตั้งแต่ขนาดตู้ ค่าของน้ำ แทงค์เมท ไปจนถึงขนาดของกรวดปูพื้นตู้ปลา ทั้งนี้ควรคำนึงถึงสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ และอุปนิสัยต่างๆของปลาที่จะเลี้ยงก่อนลงมือจัดสภาพแวดล้อมต่างๆภายในตู้ให้ ใกล้เคียงกับธรรมชาติของปลาชนิดนั้นๆมากที่สุด เพื่อให้ปลาที่เราเลี้ยงไม่เครียด และ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข
หมายเหตุ* การแต่งตู้-ปูกรวดจะทำให้ทำความสะอาดตู้ได้ยากขึ้นและเกิดการหมักหมมภายใน ตู้ได้ง่าย เพื่อป้องกันการสะสมของของเสียจากปลา จึงควรเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอด้วยครับ

ระบบกรอง
อย่างที่ได้กล่าวไปในขั้นต้นแล้ว คือ “คุณภาพน้ำที่ดีขึ้นอยู่กับระบบกรอง” ระบบกรองจึงเป็นส่วนสำคัญอีกอย่างภายในตู้ ซึ่งมีหน้าที่หลัก คือ ช่วยลดของเสียจากน้ำและเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ซึ่งเครื่องกรองมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ทั้ง กรองในตู้(ใต้กรวด,ข้าง,มุม),กรองนอกตู้(บน,ล่าง,กรองถัง),กรองแขวน, กรองกล่อง,กรองฟองน้ำ ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้หลักการคล้ายๆกัน คือ ให้น้ำภายในตู้ไหลผ่านสับสเตรท(สารกรอง)ต่างๆ ภายในเครื่องกรอง เมื่อน้ำเกิดการเคลื่อนที่ผ่านหรือกระทบกับสับสเตรทจะเกิดฟองอากาศเล็กๆขึ้น กระบวนการนี้เองที่ทำให้น้ำแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ ระหว่างที่น้ำผ่านสับเสตรทต่างๆนั้น จะมีแบคทีเรียซึ่งอาศัยอยู่ตามสับสเตรททำหน้าที่ย่อยสลายของเสียในรูป แอมโมเนีย ให้เปลี่ยนรูปไปเรื่อยๆจนกลายเป็นไนเตรท เมื่อผ่านกระบวนการทั้งหมดแล้วเครื่องกรองก็จะปั้มน้ำที่ผ่านการกรองมาเรียบ ร้อยกลับสู่ตู้ หมุนเวียนกันตลอดเวลา ซึ่งประสิทธิภาพการกรองของเครื่องกรองแต่ละชนิด อาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับชนิดของสับสเตรทที่ใช้ในการกรองครับ

อุณหภูมิ
โดยปกติปลาในเขตร้อนชอบอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิ ระหว่าง 25 – 30 องศาเซลเซียส และปลาไม่สามารถทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันใด ฉะนั้นจึงไม่ควรนำปลาจากที่หนึ่งไปปล่อยยังอีกที่หนึ่งที่มีอุณหภูมิแตกต่าง กันมาก จึงควรมีการปรับอุณหภูมิในถุง หรือ ภาชนะที่ใส่ปลาก่อนทำการปล่อยปลา โดยปกติไม่ควรเปลี่ยนแปลงเกิน 3 องศาเซลเซียส ช่วงฤดูหนาวปลามักจะอ่อนแอและป่วยง่าย จึงควรระมัดระวังป้องกัน โดยหาอุปกรณ์ใช้ควบคุมอุณหภูมิมาติดตั้ง เรียกว่า ฮีตเตอร์ ซึ่งมีขายทั่วไปตามร้านขายอุปกรณ์ปลาสวยงามทั่วไป ควรตั้งให้อุณหภูมิอยู่ที่ 28 องศาเซลเซียสจะเหมาะสมที่สุดครับ

อาหาร
เนื่องจากตามธรรมชาติที่ปลาต้องหาอาหารกินเองนั้น ปลาต้องใช้ทั้งพลังงานและความอดทนกว่าจะหาเหยื่อได้ในแต่ละครั้ง และไม่ได้กินอิ่มท้องตลอดเวลาอย่างที่เราเลี้ยงนะครับ จึงควรให้อาหารพอประมาณ และอาหารที่ขับถ่ายได้ง่ายบ้าง เช่น อาหารเม็ด เป็นต้น ซึ่งการให้อาหารปลาสวยงามนั้น ควรคำนึงถึงความครบถ้วนของสารอาหารที่ปลาจะได้รับนะครับ และให้แต่พอดี อย่ามากเกินไป ให้ถือคติว่า “อดดีกว่าอิ่ม” จะปลอดภัยกว่าครับ มื้อนี้มันกินไม่ทันเขา มื้อต่อๆไปมันก็ต้องแย่งกับชาวบ้านเค้ามั่งละครับ อาจให้เพียง เช้า-เย็น หากให้อาหารปลามากเกินไปจะมีแต่ผลเสียคืออาหารเหลือและเน่าเสีย ทำให้น้ำเน่าเร็ว หรือถึงปลากินหมด แต่ของเสียที่มันขับถ่ายออกมานั้นก็เท่ากับที่กินเข้าไปแหละครับ จะทำให้น้ำในตู้เสีย(อีกแล้ว) สุขภาพปลาก็จะทรุดโทรมได้ง่ายครับ ทำให้เราต้องเปลี่ยน-ถ่ายน้ำบ่อยขึ้นครับ

ส่วนการให้อาหารสด นั้นควรทำความสะอาดให้ดีก่อนให้ โดยการนำไปแช่ในสารละลายด่างทับทิมหรือแช่ในน้ำเกลือเข้มข้น เพื่อฆ่าเชื้อโรคเสียก่อนเพื่อป้องกันการติดโรคจากอาหาร หากเป็นสัตว์ที่มีเงี่ยงแหลมคม เช่น
กุ้งฝอยก็ควรเด็ด(กรี)ออกเสียก่อน เพื่อป้องกันการถูกทิ่มตำและโรคในทางเดินอาหารได้

ทั้ง หมดที่ได้กล่าวมานั้น เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นสำหรับคนที่ต้องการจะเริ่มเลี้ยงปลาเท่านั้น ไม่ใช่หลักตายตัวแต่อย่างใด ยังมีความรู้อีกหลายๆอย่างที่จำเป็นต้องรู้ ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มเลี้ยงปลาผู้เลี้ยงต้องศึกษาชนิดและข้อมูลของปลาที่จะเลี้ยงให้ดีเสียก่อน เพราะการเลี้ยงปลา ไม่ใช่แค่การนำปลามาปล่อยลงตู้ แล้วเลี้ยงดูมันแบบเดาสุ่มไปเรี่อยๆจนมันตาย




Credit : เอก (kaikem121 ) genepoolaquarium


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น